บัตรเครดิต คืออะไร
บัตรเครดิตเป็นบัตรที่ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank)
ออกให้แก่ผู้ถือบัตร เพื่อ
- ใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าและบริการ
เป็นการอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ถือบัตรโดยลดการพกพาเงินสดจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญหายหรือถูกโจรกรรม
- ใช้ถอนเงินสดจากเครื่อง ATM มาใช้ล่วงหน้า
ผู้ถือบัตรสามารถเบิกเงินสดจากตู้ ATM มาใช้ก่อนล่วงหน้าได้ แต่มีข้อควรระวังในการใช้บริการ คือ คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในการเบิกใช้เงินสดในอัตราที่ค่อนข้างสูง
ประโยชน์อื่น ๆ ของการใช้บัตรเครดิต เมื่อเทียบกับการใช้เงินสดยังมีอีก เช่น
- ได้รับสินค้าก่อน และชำระเงินภายหลัง แต่ต้องชำระเต็มจำนวน และตรงกับวันที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิตไม่เช่นนั้น จะมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยและค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่ผู้ออกบัตร
- ได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ส่วนลดจากร้านค้า หรือ การสะสมคะแนนเพื่อแลกรางวัล เป็นต้น
บัตรเครดิต ใครมีสิทธิ์บ้าง
การมีบัตรเครดิตไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยผู้ออกบัตรจะพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้สมัครบัตรเครดิต ดังนี้
1. ความน่าเชื่อถือ โดยพิจารณาจาก ประวัติการใช้บริการสินเชื่อ ประวัติการชำระเงินคืน วินัยในการใช้สินเชื่อ ประวัติการชำระหนี้ของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau Co.,Ltd.) การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง อาชีพ และบุคคลอ้างอิง เป็นต้น
2. ความสามารถในการชำระหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือ
- มีเงินฝากเป็นหลักประกันเต็มวงเงิน หรือ
- มีเงินฝากประจำกับธนาคารไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ
- มีเงินฝากออมทรัพย์ หรือลงทุนในตราสารหนี้ หรือลงทุนในกองทุนรวมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยวงเงินที่ผู้ถือบัตรจะได้รับจากผู้ออกบัตรเครดิตขึ้นกับการพิจารณาของผู้ออกบัตร แต่สูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน
บัตรเครดิตเจ้าไหน น่าสนใจที่สุด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกำหนดให้ผู้ออกบัตร เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่น ๆ โดยให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานทุกแห่ง รวมทั้งให้ระบุในเอกสารชี้ชวน ใบสมัคร และสัญญา
ดังนั้น ก่อนเลือกใช้บริการผู้บริโภคควรศึกษาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้ออกบัตรแต่ละแห่งเรียกเก็บจากลูกค้า รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ท่านสามารถเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมเบื้องต้นได้จาก อัตราค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบ << คลิกเพื่อดูรายละเอียด
โดย ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บริการบัตรเครดิต ที่ประมวลจากอัตราค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบในเว็บไซต์ของ ธปท. สรุปได้ ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 0 -15,000 บาท ขึ้นกับชนิดของบัตรเครดิต
- ค่าธรรมเนียมรายปี 0 - 30,000 บาท ขึ้นกับชนิดของบัตรเครดิต
- ค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ 0 – 50 บาทต่อครั้ง
- อัตราดอกเบี้ย (ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ออกบัตรเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และค่าบริการต่าง ๆ รวมกันเกินร้อยละ 20 ต่อปีไม่ได้)
- ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต (ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ออกบัตรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนไม่ได้)
- ค่าติดตามทวงถามหนี้ 0 - 384 บาทต่องวด
- ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินในการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ ร้อยละ 2 - 2.5 ของอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ จึงควรตรวจสอบรายละเอียดรายการต่าง ๆ เพื่อความมั่นใจ
นอกจากนี้ ควรเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และความสะดวกอื่น ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
- รอบระยะเวลาบัญชี
- ระยะเวลาการชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย
- จำนวนร้านค้าที่รับบัตร
- ความสะดวกในการชำระเงิน
- เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ
- บริการเสริม และโปรโมชั่นต่าง ๆ
- พันธมิตรทางธุรกิจของผู้ออกบัตร
TIPS
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี คุณสามารถต่อรองกับผู้ออกบัตรเพื่อขอยกเว้นการเรียกเก็บได้
- สิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากบัตรเครดิตชนิดต่าง ๆ เช่น บัตรพลาตินัม (Platinum) คุณควรนำมาเปรียบเทียบกับเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการใช้บัตรด้วย เนื่องจากค่าธรรมเนียมรายปีจะสูงกว่าบัตรธรรมดา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น